ประวัติวัดฉางข้าวน้อยใต้ เดิมมีชื่อว่า วัดสันเข้าน้อย ที่ให้ชื่อว่าวัดสันเข้าน้อย ก็เพราะว่าสมัยนั้นเจ้าครองเมืองหริภุญชัย คือ เจ้ามหาบดีราช –ภูธรบวร ได้มาตั้งฉางเก็บข้าวไว้ในหมู่บ้านโดยสร้างเป็นหลังเล็ก ๆ (น้อย) จึงตั้งชื่อบ้านและวัดว่า สันเข้าน้อย ปัจจุบันฉางข้าวน้อยมี 2 วัดคือ เหนือ-ใต้ จึงเรียกกันว่า วัดฉางข้าวน้อยใต้
วัดฉางข้าวน้อยใต้ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2340 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๑๖ เมตร ใต้ ตั้งอยู่เลขที่ ๑๕๒ บ้านฉางข้าวน้อยใต้ ตำบลป่าซาง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีเนื้อที่ ๔ ไร่ ๔๒ ตารางวา น.ส. ๓ เลขที่ ๔๕ อาณาเขต ทิศเหนือประมาณ ๒ เส้น ๘ วา จดที่ดินเอกชน ทิศใต้ประมาณ ๒ เส้น ๘ วา จดลำเหมืองสาธารณะ ทิศตะวันออกประมาณ ๑ เส้น ๘ วา ๓ ศอก ทิศตะวันตกประมาณ ๒ เส้น ๔ วา ๒ ศอก จดถนนสายลำพูน-ลี้ มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน ๒ แปลง เนื้อที่ ๔ ไร่ ๒ งาน ๗๐ ตารางวา น.ส. ๓ก เลขที่ ๒๖๐ , ๒๖๑อาคารเสนาสนะประกอบด้วย วิหาร อุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ ปูชนียวัตถุมี พระประธานเป็นพระพุทธรูปสร้างด้วยอิฐถือปูน พระพุทธรูปทองเหลือง พระพุทธรูปไม้สัก และเจดีย์
ประวัติ กู่ครูบาคางเป็ด (กู่ครูบาคันธา) เมื่อครูบาคันธา เรวจฺจ (ครูบาคางเป็ด) มรณภาพด้วยอาการอันสงบ ตามวิถีทางแห่งพระอริยเจ้าเมื่ออายุได้ ๗๐ ปี คณะศรัทธาประชาชน ได้พากันทำบุญ ประชุมเพลิง ตามประเพณี เมื่อไฟที่เผาดับลง ชาวบ้านเห็นแสงสว่างขึ้นลงบริเวณที่เผาร่างท่านครูบาเป็นเวลาหลายวัน เป็นที่อัศจรรย์ ศรัทธาชาวบ้านพากันไปดูที่กองไฟ ปรากฏว่าอัฐิของท่านครูบากลายเป็นเม็ด จึงรวบรวมอัฐิพระธาตุ พร้อมทั้งคางเป็ดของท่านครูบาบรรจุไว้แห่งเดียวกัน ณ บริเวณที่เผาร่างท่าน โดยก่อเป็นสถูป ต่อมาพวกพม่าได้ก่อเป็นเจดีย์ขึ้นเรียกว่า เจดีย์ครูบาคางเป็ดเป็นพระเจดีย์ศิลปแบบไทยใหญ่ผสมล้านนาสีขาว ประดับลวดลายสวยงาม อยู่บริเวณใกล้ วัดฉางข้าวน้อย โดยในทุกปีจะมีประเพณีสรงน้ำพระธาตุกู่อัฐิครูบาคันธา (ครูบาคางเป็ด) วัดฉางข้าวน้อยใต้และสรงน้ำอัฐิ ในเดือนเมษายนของทุกปี
ประวัติ ครูบาคันธา เรวัจจะ(ครูบาคางเป็ด) เกิดที่เมืองสิบสองปันนา(ประเทศจีนปัจจุบัน) ได้อพยพเดินทางมาสู่ล้านนาประเทศ(ภาคเหนือประเทศไทยปัจจุบัน) เนื่องด้วยพระเจ้ากาวิละเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ ๑ หลังจากกอบกู้อิสรภาพจากพม่าเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่๒ได้ยกทัพไปตีหัวเมืองต่างๆในสมัย “เก็บผักใส่ส้า เก็บข้าใส่เมือง”ได้กวาดต้อนเอาผู้คนจากแคว้นสิบสองปันนามาเป็นจำนวนมากมาตั้งรกรากที่เวียงป่าซาง ซึ่งมีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านรวบรวมพลเมือง เมื่อพลเมืองและกำลังพลทุกอย่างพร้อมจึงยกพลจากเวียงป่าซางเข้าสู่เมืองเชียงใหม่ โดยเหลือประชาชนบางส่วนอาศัยอยู่ที่เวียงป่าซางเดิม กลุ่มคนเหล่านี้มีเชื้อสายไทยใหญ่ ฮ่อเขิน ลื้อ ยอง ลาว ปะปนกันอยู่ จนมาถึงเชื้อชาติยองทุกวันนี้
เมื่อครูบาคันธา (ครูบาคางเป็ด) ได้เดินทางจากแค้วนสิบสองปันนา ในยามเด็ก และมาอาศัยอยู่กับบิดามารดาที่บ้านฉางข้าวน้อย สาเหตุที่ได้นามว่าครูบาคางเป็ด เนื่องด้วยยามเด็กได้ช่วยเหลืองานบิดาโดยนำควายไปเลี้ยง เมื่อนำควายไปเลี้ยงครั้งใด แม่น้าจะห่อข้าวกับหัวเป็ดหรือคางเป็ดให้เป็นอาหารกลางวันทุกวัน จนเกิดความสงสารตัวเอง แต่ไม่รู้จะทำอย่างไร จึงได้รวบรวมคางเป็ดที่แม่น้า(แม่เลี้ยง)ให้เป็นอาหารกลางวันเก็บรักษาไว้ ยามว่างๆก็หยิบคางเป็ดมาพิจารณาว่า “เหตุใดหนอ เหตุใดหนอ แม่น้าจึงห่อคางเป็ดให้กินทุกๆวัน เราไม่ใช่ลูกที่แท้จริง “แม่น้า” จึงไม่รัก ไม่อยากให้เราอยู่รวมกัน” ครูบาจึงตัดสินใจออกจากบ้าน ด้วยบุญบารมี ที่ได้สะสมมาในอดีต จึงได้ตัดสินใจออกบวช เด็กชาย คันธาได้เข้าฝากตัวเป็นลูกศิษย์ครูบามหาสามี วัดฉางข้าวน้อยใต้ ท่านครูบามหาสามีได้บรรพชาให้เป็นสามเณรคันธา ได้เล่าเรียนพระธรรมวินัย อักขระพระกรรมฐาน จนมีความรู้ความสามารถ เมื่ออายุครบ ๒๑ ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ปฏิบัติธรรม เจริญพระกัมมัฎฐาน สมาธิภาวนาอย่างเคร่งครัด ถือวัตรฉันมื้อเดียว เมื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุใหม่ ท่านครูบาได้นำเอาคางเป็ดที่ได้เก็บรักษาไว้เมื่อครั้งเป็นเด็ก มาพิจารณายกจิตขึ้นสู่พระกัมมัฏฐานจนเกิดความเบื่อหน่ายในชีวิต เห็นโทษของวัฏสงสาร เพียรปฏิบัติธรรมอย่างเอาจริงเอาจัง จนดวงตาเห็นธรรม เกิดวิมุตติ ญาณทัสนะรู้แจ้งในกฎพระไตรลักษณ์ ท่านได้ศึกษาเล่าเรียนจนเป็นพหูสูตร ดังนั้นท่านจึงรำลึกถึงคุณของคางเป็ดที่ทำให้ท่านบรรลุธรรม
ท่านครูบาจึงนำคางเป็ดมาลงรักและชาด ปิดทองคำเปลวจนทั่ว แล้วเก็บรักษาคางเป็ดเหล่านั้นไว้เป็นกัมมัฎฐาน เป็นเครื่องรำลึก ท่านจึงได้นามว่า ครูบาคางเป็ด